รุ่นที่ 2 (E30, พ.ศ. 2525 - 2537) ของ บีเอ็มดับเบิลยู 3 ซีรีส์

บีเอ็มดับเบิลยู 3 ซีรีส์ รุ่นที่ 2

บีเอ็มดับเบิลยู 3 ซีรีส์ รุ่นที่ 2 หรือ E30 ได้มีการใส่ภาพลักษณ์ใหม่ๆ เข้าไปมากมาย เช่น มีการทำระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด, ตัวถังซีดาน 4 ประตู เป็นครั้งแรก มีการใช้เครื่องยนต์ระบบหัวฉีด Jetronic และลูกเล่นอื่นๆ อีกมากมาย ที่ไม่มีใน E21 ทำให้ราคาของ E30 เพิ่มขึ้นจนเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับ E21 ส่วนภาพรวมอื่นๆ นั้น ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

E30 มียอดรวมการผลิตทั้งสิ้น 2,339,248 คัน

ในประเทศไทย เอ็มดับเบิลยู 3 ซีรีส์ รุ่นที่ 2 หรือ E30 ได้ทำตลาดดังนี้

พ.ศ. 2527

  • บริษัทยนตรกิจได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 5 ที่สวนอัมพร โดยได้ทำตลาดเป็นครั้งแรกด้วยรุ่น 316 เครื่อง M10 คาร์บูเรเตอร์ไฟฟ้า กระจกมือหมุน และไม่มีพวงมาลัยเพาเวอร์ โดดเด่นด้วยชุดไฟแจ้งเตือนการเข้ารับบริการ SI (Service Interval Indicator) E30 เปิดตัวโดยมีบอดี้ให้ลูกค้าเลือกได้ว่าจะเอาแบบ 2 ประตู หรือ 4 ประตู โดยตั้งราคาเอาไว้ที่ 519,000 บาทสำหรับรุ่น 2 ประตู และ 549,000 บาทสำหรับรุ่น 4 ประตู

พ.ศ. 2528

  • มีการเปลี่ยนระบบส่งกำลังให้กับ E30 โดยนำเอาเกียร์ธรรมดา 5 สปีดมาใส่ และเพิ่มราคาเป็น 539,000-569,000 บาท ในปีนี้ยอดขายของ E30 ยังคงพุ่งแรง ในปีนั้น E30 เป็นรถที่ขายดีที่สุดในตลาดไทยเป็นอันดับสองรองจาก Peugeot 305GL

พ.ศ. 2529

  • มีการแนะนำรุ่น 318i สองประตูลงขายที่เน้นความสปอร์ตมากขึ้น โดยความพิเศษของรถรุ่นนี้ก็คือเครื่องยนต์รหัส M10 ที่เปลี่ยนระบบจ่ายเชื้อเพลิงจากคาร์บูเรเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นหัวฉีดไฟฟ้า ของ Bosch รุ่น L-Jetronic แทน ทำให้สามารถจ่ายน้ำมันได้แม่นยำขึ้น ส่งผลเรื่องความประหยัดน้ำมัน และทำให้แรงม้าเพิ่มเป็น 105 แรงม้า และมันได้รับการตกแต่งภายนอกด้วยชุดแต่ง M-Technic ที่มีกันชนสไตล์สปอร์ตและสปอยเลอร์หลังอีกด้วย สำหรับภายในก็มีพวงมาลัยสปอร์ต 3 ก้านมาให้ สำหรับความปลอดภัยก็มีให้เข็มขัดนิรภัยมาครบทุกจุด
  • ในช่วงเวลานี้ มันกลายเป็นรถที่สร้างชื่อในวงการมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยด้วย บริษัทผู้แทนจำหน่ายเองก็ทำรถแข่งลงมาเล่นกับเขาด้วยภายใต้ชื่อทีมแข่ง “ยนตรกิจมอเตอร์สปอร์ต” มีนักแข่งในสังกัดเช่นคุณฐิติ เกิดรพ ที่คว้าแชมป์รุ่น Expert โอเวอร์ 1,600 ซี.ซี.ในการแข่งโมบิลกรังด์ปรีซ์ที่สนามพีระเซอร์กิต ที่จริงแล้วทีมยนตรกิจส่งรถเข้าแข่งขันในหลายคลาส และในรุ่นที่เน้นความแรง จะใช้เครื่องสเป็คตัวแข่งขนาด 2.0 ลิตร ซึ่งปั่นได้ 300 แรงม้า

พ.ศ. 2530

  • มีการปรับราคาของ E30 อีกครั้ง ตามยุทธวิธีการขายของยนตรกิจในสมัยนั้น โดยมีการปรับราคาขึ้น ราคาของมัน อย่างในรุ่น 318i ก็โดดจากไม่ถึง 6 แสนมาอยู่ที่ 690,000 บาท แต่ก็ยังทำยอดขายได้ดี เพราะความต้องการของผู้ซื้อมีอยู่สูง

พ.ศ. 2531

  • มีการเปิดตัวรุ่นปรับโฉมตามเมืองนอก โดยจุดที่สังเกตคือไฟท้ายซึ่งเปลี่ยนจากไฟถอยหลังที่อยู่ชิดขอบใน และมีลอนพาดตามแนวนอน (คนจึงเรียกฉายาว่า “รุ่นไฟท้ายสองชั้น”) มาเป็นไฟท้ายที่ดูไฮเทคขึ้น มีลอนพาดผ่านเพิ่มมาอีกหนึ่ง ทำให้รุ่นนี้ได้ชื่อว่าไฟท้ายสามชั้น เครื่อง M10 หัวฉีดก็ถูกยกมาวางในรถตัวถังสี่ประตู และจำหน่ายในชื่อ 316i (ถึงแม้ความจุจริงจะเป็น 1.8 ลิตร) แต่รุ่นคูเป้ก็ยังจำหน่ายในโฉมเดิมอยู่ ต้องรอจนถึงอีกหนึ่งปีจึงได้รับการปรับโฉมตามรุ่นซาลูนไป

พ.ศ. 2532

  • E30 รุ่นคูเป้ได้มีการเปิดตัวรุ่นปรับโฉมตามรุ่นซาลูน และยังได้เครื่องยนต์ใหม่รหัส M40 มาแทนเครื่อง M10 แบบเดิม ถึงแม้รูปแบบของเครื่องยนต์ยังเป็น 4 สูบ 8 วาล์วอยู่ แต่ก็ได้มีการเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนแค็มชาฟท์จากโซ่มาใช้สายพาน และจ่ายน้ำมันผ่านระบบหัวฉีดของ Bosch Motronic 1.3 มากับความจุ 2 ขนาด เครื่อง M40B16 วางในรุ่น 316i 4ประตู เป็นเครื่องขนาด 1.6 ลิตร 102 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีดเพียงอย่างเดียว และ M40B18 วางในรุ่น 318i 2 ประตูและ 4ประตู ความจุ 1.8 ลิตร ให้กำลัง 115 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด

พ.ศ. 2533

  • มีการเพิ่มรุ่น 318iA ที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดมาให้เลือก

พ.ศ. 2534-2535

  • หลังจากที่ทำตลาดมานาน 8 ปี E30 ก็ถูกแทนที่โดย E36 ซึ่งเปิดตัวในไตรมาสแรกของปี 2535 และแม้ว่ายังมี E30 จำนวนหนึ่งที่ขายเคียงคู่กับ E36 ต่อมาอีกนานพอสมควร ปี 2535 ถือว่าเป็นปีที่ E30 ยุติทำตลาดในไทยไปอย่างเป็นทางการ โดยราคาของ 318i อยู่ที่ 960,000 บาทและราคาของ 318iA อยู่ที่ 990,000 บาท[1]

ใกล้เคียง

บีเอ็มดับเบิลยู บีเอ็มดับเบิลยู 3 ซีรีส์ บีเอ็มดับเบิลยู 5 ซีรีส์ บีเอ็มดับเบิลยู 7 ซีรีส์ บีเอ็มดับเบิลยู Z4 บีเอ็มดับเบิลยู เค1600 บีเอ็มดับเบิลยู Z4 (G29) บีเอ็มดับเบิลยู 1 ซีรีส์ บีเอ็มดับเบิลยู อาร์75